วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

Once a Special Force, Always a Special Force


วันนี้ขอเขียนอะไรที่อยากพูดออกมาเสียงดังมานนานแล้วว่า ชีวิตคนเรานั้น ถือได้ว่ามีวัฏจักรที่สั้นนัก เมื่อหันไปมองเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มรับราชการติดว่าที่ร้อยตรีเป็นทหารมาก็ร่วม 24 ปี และเหลือเวลารับราชการอีก 14 ปีก็จะเกษียณอายุ แสดงว่าตอนนี้เรารับราชการเป็นทหารมานานเกินครึ่งหนึ่งของเส้นทางแล้วหรือ แสดงว่าเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ซึ่งชีวิตรับราชการก็มีทั้งขึ้นและลง มีทั้งสิ่งที่ท้าทาย และมีสิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าบัดซบ (ฟังดูอาจจะไม่สุภาพ แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ)

แต่บนความขึ้นลงของชีวิตนั้น ช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมากที่สุดในชีวิตรับราชการคือ ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในหน่วยรบพิเศษ ถึงแม้ผมจะมีโอกาสใช้ชีวิตในหน่วยรบพิเศษ แค่ 6 ปี หรือคิดเป็น หนึ่งในสี่ (25%) ของชีวิตรับราชการที่ผ่านมา แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย มีทั้งราบเรียบและเสี่ยงภัย ผมได้ทำอะไรต่อมิอะไร ที่คงไม่มีโอกาสที่จะไปทำในที่อื่นถึงแม้จะเป็นหน่วยทหารอื่นๆ เช่นกระโดดตัวเปล่าจาก เฮลิคอปเตอร์กำลังบินลงบนหลังคารถไฟที่กำลังวิ่ง

นอกจากนี้ผมยังได้มีโอกาสสัมผัสเคียงบ่าเคียงไหล่กับหน่วยรบพิเศษที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ หน่วยรบพิเศษกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (Green Beret) ซึ่งส่วนใหญ่ของ Green Beret ที่ได้มีโอกาสสัมผัส คือ กองรบพิเศษที่ 1 (1st Special Forces Group) ทั้งกองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 ที่เป็น กองรบพิเศษที่ 1 เพราะหน่วยนี้รับผิดชอบพื้นที่ เอเซียแปซิฟิก

นอกจากนี้ยังมีหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียง อย่าง Delta Force หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการคือ 1st Special Forces Operational Detachment-Delta (1st SFOD-D) ผมได้มีโอกาสสัมผัสแบบเคียงบ่าเคียงใหล่ กับ C Squadron

และการที่ได้ฝึกร่วมกับ Delta Force นั้นก็คงหนีไม่พ้น ต้องได้นั่งเจ้า Black Hawk หรือ UH 60 ตอนนั้นกองทัพบกยังไม่มีประจำการ เราได้นั่งห้อยขา บินเฉียดยอดไม้ทั้งกลางวันกลางคืนกันหลายรอบมาก รวมถึงการกระโดดร่ม แบบกระตุกเอง หรือที่เรียกกันว่า ดิ่งพสุธา ผมนั่งเจ้า Black Hawk พวกนี้ก่อนที่จะไปตกในกรุง โมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย หรือที่รู้จักในชื่อ Black Hawk Down ที่เอามาทำเป็นภาพยนต์

นอกเหนือจาก ฝั่งสหรัฐฯ แล้ว ผมยังได้มีโอกาสสัมผัสกับ หน่วย SAS ของออสเตรเลีย หรือที่รู้จักกันชื่อ SASR - Special Air Service Regiment ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกำลังใน 1st squadron เพราะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism – CT) ซึ่งได้รับประสบการณ์ต่างมากมาย

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นสุดยอดทหารรบพิเศษอะไร เพราะยังมีทหารรบพิเศษของไทยที่มีความสามารถหรือประสบการณ์มากกว่าผมอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ผมอยากจะแชร์ประสบการณ์บางส่วนที่มีโอกาสสัมผัสหน่วยทหารรบพิเศษเหล่านี้มา ซึ่งเราเคยได้ยิน หรือดูภาพยนต์มาเยอะ ซึ่งการมีประสบการณ์ตรงกับหน่วยเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดง่ายๆ กับทุกคน ผมจึงคิดว่าเป็นโชคดีของผมที่ผมได้มีโอกาสนั้น

หลายคนที่ติดตามกันมาใน social media ผมอาจจะเห็นบรรยากาศ เปลี่ยนไปบ้างมีอริยาบทเกี่ยวกับการยิงปืนเยอะมากขึ้น ส่วนหนึ่งแล้วมาจากการที่ผมอาจจะย้ายไปอยู่ส่วนงานที่อาจจะไม่มีภาระงานมากนัก เลยทำให้คิดถึงวัยเด็กหนุ่มๆ อยากกลับไปทำอะไรอย่างนั้นอีก แต่ครั้งจะกลับไปรับราชการในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ก็คงไม่มีโอกาสแล้วครับ ผมเดินมาไกลเกินกว่าที่จะกลับไป เพราะฉะนั้น ทุกจึงเป็นเพียงแค่ความทรงจำ และหวลระลึกถึงมันเมื่อมีโอกาส วันนี้เราเป็นทหารรบพิเศษไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เป็น ทหารรบพิเศษ เพราะมีคำกล่าวที่ว่า "Once a Special Force, Always a Special Force" นั้นก็หมายความว่า เป็นรบพิเศษสักครั้งก็จะเป็นไปจนวันตาย

ในชีวิตทหารนั้น สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือการได้รับราชการในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยที่เป็น elite ของหน่วยรบพิเศษ คือ กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (หน่วยเฉพาะกิจ 90 : ฉก.90) ปัจจุบันได้ขยายอัตราเป็น กองพันปฎิบัติการพิเศษ แล้ว

ก็ไม่มีอะไรมากนอกจาก ทหารแก่รำพันโหยหาในอดีต วันนี้ไม่ได้กลับไปทำอย่างเดิม ขอให้ได้มาเต้นยอกๆ แย็กๆ บ้างก็ยังดี เพราะมันคือ “My pride, my honor and my dignity.” ครับ Hooah!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น